Hobbes on philosophy of religion ฮับส์กับปรัชญาศาสนา
ผู้แต่ง : เอนก สุวรรณบัณฑิต
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
ยุคกลางถือว่าปรัชญาเป็นสาวใช้ของเทววิทยา (Philosophy is the handmaid of theology) เมื่อปรัชญาต้องการปรัชญาประยุกต์ทางศาสนาก็เอาผลสรุปของศาสนามาหาเหตุผลตามหลักตรรกวิทยาได้ปรัชญาประยุกต์ เรียกแขนงวิชาว่า Theodicy or Natural Theology (ปรัชญาเทวะ)
ฮับส์เป็นคนแรกที่แยกปัญหาปรัชญาออกจากศาสนา ถือว่าเป็นคนละเรื่อง คนละปัญหา คือปรัชญาศาสนาไม่ใช่เอาปัญหาของศาสนามาหาเหตุผลเป็นการสนับสนุนหรือคัดค้าน แต่ปรัชญาศาสนากล่าวถึงเรื่องเกี่ยวกับศาสนาอีกทีหนึ่ง เช่น หาสาเหตุของศาสนา พื้นฐานแห่งความเชื่อถือในศาสนา วิวัฒนาการของศาสนา การตีความคัมภีร์ของศาสนาเป็นต้น
ฮับส์ชี้ให้เห็นว่าการเข้าใจศาสนาไม่ถูกเรื่องเป็นสาเหตุของความหายนะทางสังคมอย่างใหญ่หลวง เป็นจุดเริ่มต้นของปรัชญาศาสนา (philosophy of religion) ต่อมาจนทุกวันนี้
ปรัชญาศาสนากับปรัชญาเทวะจึงไม่เหมือนกันเสียทีเดียว
ฮับส์ได้ทำบัญชีคำที่ควรเข้าใจให้ถูกต้องในคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งฮับส์ได้พยายามเข็ญเข้าคลองกลศาสตร์นิยมจนได้ แต่ในที่สุดก็แถลงว่าเรื่องพระเจ้าเราเข้าใจด้วยเหตุผลไม่ได้และไม่จำเป็นต้องเข้าใจ กษัตริย์มีหน้าที่กำหนดข้อความเชื่อและแนวปฏิบัติเพื่อให้เกิดความสงบสุขในหมู่ประชาชนเป็นใช้ได้แล้ว
ฮับส์แสดงตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อนิกายคาทอลิกอย่างออกหน้าออกตา และชมว่านิกายแองกลิเคินของอังกฤษนั้นถูกต้องสมเหตุสมผล แต่มีผู้วิจารณ์ว่าฮับส์จริงใจหรือเปล่าในเรื่องนี้ เพราะตามระบบจักรกลนิยมจริง ๆ แล้ว ฮับส์ไม่น่าจะมีความเชื่อในพระเจ้า อย่างมากก็เพียงอาจเชื่อว่าพระเจ้าคือกฎและพลังของธรรมชาติ ฮับส์อาจจะพูดไปเพื่อเอาตัวรอดไม่ให้ถูกหาว่าเป็นอเทวะ และเพื่อเอาใจผู้มีอำนาจทางการเมืองขณะนั้นก็ได้ เพราะปรากฏว่าทั้งกษัตริย์ชาลส์ที่ 2 และ ครอมแวล (Cromwell) แห่งอังกฤษ ต่างก็ชอบแนวคิดเช่นนี้