Hinduism on truth ความจริงของศาสนาฮินดู
ผู้แต่ง : เมธา หริมเทพาธิป
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
ชาวฮินดูจะตีความคัมภีร์อย่างไรก็ได้ ไม่มีใครจะประณามว่าผิด ซึ่งก็หมายความว่าถูกด้วยกันทั้งสิ้นนั่นเอง แม้จะตีความผิดเพี้ยนกันถึงตรงข้ามกัน ก็ไม่มีใครว่ากระไรเพราะถือว่าความจริงระดับอุตระมีหนึ่งเดียว ซึ่งไม่มีใครในโลกนี้จะรู้ได้ ถึงรู้ได้อย่างเช่นฤษีที่เข้าฌานถึงขั้น แล้วจะพูดอะไรก็เป็นคำสอนศักดิ์สิทธิ์หมดไม่มีคำสอนผิดแต่ต้องตีความและจะหาภาษาอธิบายให้แจ่มแจ้งชัดเจนไม่ได้อยู่ดี
ดังนั้นใครจะอธิบายชี้แจงอย่างไรก็จะแสดงได้เพียงคนละส่วนของความจริง และก็ไม่มีใครรู้ว่าส่วนใดแสดงความจริง อาจจะตรงกันบ้าง เหลื่อมล้ำกันบ้าง ก็เชื่อได้ว่าหากมีศรัทธาก็ย่อมจะรู้ความจริงได้บ้างไม่มากก็น้อย ความแตกต่างผิดเพี้ยนกันจึงอยู่เพียงที่เปลือกนอก ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ขอให้ทุกคนมุ่งสู่ความจริงแท้ในระดับอุตระด้วยกันก็ถือว่าเป็นพวกเดียวกันทั้งสิ้น ในระดับนั้นไม่มีความแตกแยกหรือผิดเพี้ยนกันแต่ประการใดทั้งสิ้น
ดังนั้นเกณฑ์ความจริงของศาสนาฮินดู จึงไม่อาจจะกล่าวได้ว่าอยู่ในคัมภีร์ใดโดยเฉพาะเจาะจงเหมือนในศาสนาอื่น ๆ แต่เป็นเกณฑ์ที่เดินตามกฎความเหมือนในครอบครัว (family resemblance) ที่วิทเกินชทายน์ (Wittgenatein) กล่าวไว้สำหรับครอบครัวความหมายของคำหนึ่ง ๆ
ในกรณีเกณฑ์ความจริงศาสนาของชาวฮินดู จึงหมายความว่า ไม่ต้องยึดถือคัมภีร์ทุกเล่ม ซึ่งมีอยู่มากมายเหลือเกิน แต่ทว่าใครจะได้ชื่อว่าเป็นชาวฮินดูนั้น ขอให้รับเชื่อบางส่วนจากคัมภีร์ทั้งหมด จะเป็นส่วนใดก็ได้ ย่อมได้ชื่อว่าเป็นชาวฮินดูทั้งสิ้น ทั้งนี้ด้วยเหตุผลว่าคัมภีร์ทุกเล่มและแต่ละเล่มล้วนแต่เปิดเผยความจริงของเอกภพทั้งสิ้น และผู้ที่เข้าถึงบ้างพอสมควรแล้วก็อาจจะไตร่ตรองล่วงรู้เพิ่มขึ้นอีกกี่คนและอีกเท่าใดก็ได้