Greek philosophy throughMiddle Ages ปรัชญากรีกระหว่างยุคกลาง
ผู้แต่ง : รวิช ตาแก้ว
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
ระหว่างเวลาตั้งแต่คนเราเข้าใจความรู้แบบกรีกคนสุดท้ายตายลง (สมมุติว่าได้แก่ โบเอเธียส Boethius 480?-524 ) จนถึงเวลาเกิดของผู้เริ่มเข้าใจขึ้นมาใหม่ (สมมุติว่าเป็นนิวเทิน Isaac Newton 1642-1728) ผู้เขียนหนังสือ หลักการคณิตศาสตร์ของปรัชญาธรรมชาติ (Mathenatical Principles of Natural Philosophy) ขึ้นในปี ค.ศ.1687 ก็กินเวลากว่า 11 ศตวรรษครึ่ง
ก็น่าสนใจรู้ว่าใครบ้างมีบทบาทเก็บรักษาหลักฐานเอาไว้ระหว่างความผันผวนของสังคม คุณความดีนี้ก็น่าจะยกให้กับความคิดริเริ่มของเซนต์เบเนอดิกท์แห่งเนอร์เซีย (St.Benedict of Nursia 480?-547) ผู้ริอ่านคิดตั้งคณะนักพรตเบนีดิกทีนขึ้นในราวปี ค.ศ.515 สมาชิกของคณะนี้กระจายตัวไปอย่างรวดเร็วทั่วยุโรป เพราะท่านห้ามลูกศิษย์ของท่านมิให้จับกลุ่มกันใหญ่นัก และสั่งให้รักษาวิเวกและแบ่งเวลาเรียน ภาวนาและทำงาน ยิ่งเป็นฤดูหนาวหิมะตก งานเกษตรหยุดชะงักจึงทุ่มเทให้กับงานลอกตำราแทนเป็นส่วนใหญ่
งานที่เหมาะสมกับสถานภาพวิเวกก็คือทำสวนสลับกับคัดลอกตำรา ตำราที่สนใจใช้เรียนจึงมีการลอกไว้กระจายอยู่ทั่วไป ถูกเผาไปแห่งหนึ่งก็ยังเหลือที่แห่งอื่น ๆ ดังนั้นเมื่อมีกลุ่มอนารยชนตั้งหลักแหล่งมีบรรยากาศสงบศึก ณ ที่ใดก็จะมีนักพรตเบนีดิกทีนไปตั้งอารามขึ้นที่นั่น
เมื่อจักรพรรดิชาร์ลมาญดำริตั้งสถาบันการศึกษาชั้นสูงขึ้นได้เรียกแอลคูอิน (Alcuin 732?-804) จากยอร์คบนเกาะบริเทนมาทำหลักสูตร ก็ได้อาศัยออกสำรวจห้องสมุดของอารามต่าง ๆ เพื่อขุดคุ้ยขึ้นมาศึกษากันตามอัธยาศัย
เมื่อเกิดมหาอาณาจักรอาหรับขึ้นคู่เคียงและเป็นคู่แข่งกับมหาอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์อยู่นั้น กาหลิบทั้งหลายก็ได้พยายามส่งเสริมการศึกษาตามจิตตารมณ์ของคัมภีร์อัลกุรอาน จึงได้ทรงกำหนดตั้งสถาบันการศึกษาค้นคว้า ห้องสมุด และพิพิธภัณฑ์เพื่อเป้าหมายดังกล่าวขึ้นตามเมืองใหญ่ทั่ว ๆ ไป มีความพยายามรวบรวมตำราและคัดลอกตำราเพื่อใช้ศึกษาค้นคว้าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอารามนักพรตของชาวคริสต์ ยิ่งกว่านั้นชาวอาหรับไปค้าขายถึงอินเดียและนำศาสนาไปเผยแผ่ถึงอินเดีย (และถึงสุดแดนเอเชีย) จึงได้เอาความรู้จากอินเดียและจีนมารวบรวมไว้และถ่ายทอดต่อให้กับชาวยุโรป ชาวอาหรับมิเพียงแต่คัดลอก แต่มีความสามารถมากกว่าถึงขั้นแปลตำราที่ได้เก็บรวบรวมมานั้นเป็นภาษาอาหรับ เพื่อให้ผู้ไม่รู้ภาษาเดิมเพียงพอได้ใช้ศึกษาด้วย
ปรากฏว่าชาวยุโรปรู้ตำราของนักปราชญ์กรีกจำนวนมากโดยแปลจากภาษาอาหรับก่อนที่จะรู้จากภาษากรีกดั้งเดิม อย่างเช่น ตำราด้านอัลเคมี (เนื้อหานำสู่วิทยาศาสตร์ปฏิบัติ) คณิตศาสตร์(ของยูคลิด) การแพทย์(ของแกเลิน) ปรัชญา(ของแอเริสทาเทิล) ดาราศาสตร์(ของทาเลอมิ) เป็นต้น