good will morality จริยธรรมตามเจตนาดี
ผู้แต่ง : สุดารัตน์ น้อยแรม
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
จริยธรรมของคานท์ (Immanuel Kant) เรียกได้ว่าเป็นจริยธรรมแห่งเจตนาดีคือความดี –ชั่วอยู่ที่เจตนาของการกระทำ คนที่ทำด้วยเจตนาดีได้ชื่อว่าเป็นคนที่มีเจตนาดี(The man of good will) เป็นคนดีแท้ ผลที่ได้ออกมานั้นเป็นเรื่องของความบังเอิญ จะถือเป็นหลักตัดสินความดีของผู้กระทำไม่ได้ นักรบบางคนทั้ง ๆ ที่กลัวตายอาจทำลายข้าศึกได้มากโดยบังเอิญ แต่นักรบกล้าหาญบางคนก็ไม่มีโอกาสได้ทำลายศัตรูลงราบให้เห็นกับตาเลย
ในสายตาของมหาชน คนแรกอาจจะเป็นวีรบุรุษยิ่งใหญ่ แต่ความจริงแล้ว ใครกล้าหาญสมเกียรติวีรชนกว่าใคร ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ช่าง คานท์สอนให้ทำทุกอย่างด้วยความรู้สึกในหน้าที่ ความรู้สึกในหน้าที่นี้มาจากเหตุผลปฏิบัติ (Practical Reason) ซึ่งสัมผัสความเป็นจริง ไม่ใช่เกิดจากความสะเทือนใจและไม่ใช่มาจากโครงสร้างของสมองระดับเหตุผลบริสุทธิ์ (Pure Reason)
แต่ความรู้สึกนี้มาอย่างไรนั้นเป็นเรื่องลึกลับ เราไม่สามารถเข้าใจแจ่มแจ้งเพราะเป็นเรื่องของนูเมอเนอ (Noumena) ที่ให้ความรู้สึกมาตรการในเรื่องหน้าที่ เป็นหลักค้ำประกันว่าไม่ใช่เรื่องเหลวไหล เราต้องเคารพ เราจะคิดไล่เลียงเหตุผลตามหลักตรรกวิทยาของเหตุผลบริสุทธิ์ไปจนถึงที่สุดก็ไม่ถึงความสำนึกดังกล่าว
ชาวเหตุผลนิยมได้พลาดเรื่องนี้มาแล้ว ดังจะได้เห็นในจริยธรรมของ สจ๊วต มิล(Stuart Mill) และชาวประสบการณ์นิยมก็พลาดเช่นกันที่ยึดอยู่ที่อารมณ์ ความรู้สึกคานท์จึงคิดว่าเราต้องเชื่อคำสั่งให้ปฏิบัติตามหน้าที่ซึ่งเราได้รับโดยตรงจากสมองของเราซึ่งคานท์ถือว่าน่าเชื่อถือที่สุดในทางปฏิบัติ ด้วยเหตุผลดังกล่าวมาแล้วเป็นอันว่ามาตรการความประพฤติดีของคานท์ ได้แก่การกระทำด้วยความสำนึกในหน้าที่ (duty to be done) ไม่เกี่ยวกับการเล็งเห็นผลดีหรือผลเสีย ได้กุศลหรือบาป หรือเป็นคำสั่งของใครทั้งสิ้น แต่เป็นคำสั่งเด็ดขาด (categorical imperative)ที่นอนเนื่องอยู่ในโครงสร้างของสมองของมนุษย์ทุกคนที่ไม่ผิดปรกติ
เราจะเชื่อฟังพ่อแม่ก็เพราะเป็นหน้าที่ เรายอมเสียภาษีให้รัฐก็เพราะเป็นหน้าที่ เรายอมนับถือศาสนาและปฏิบัติตามศีลธรรมก็เพราะเป็นหน้าที่ เราพยายามมีชีวิตอยู่ต่อไปก็เพราะเป็นหน้าที่ ฯลฯ นี่แหละคานท์เรียกว่าความประพฤติดีที่ควรยกย่องตามความหมายทางจริยธรรม