Galileo and philosophy กาลิเลโอกับปรัชญา
ผู้แต่ง : เอนก สุวรรณบัณฑิต
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
อภิปรัชญา ในฐานะนักปรัชญา กาลิเลโอสอนลัทธิรังสรรค์นิยม คือ เอกภพมีพระผู้สร้าง เชื่อว่าพระเจ้าทรงสร้างเอกภพมาให้มีกฎของธรรมชาติแน่นอนตายตัว และประสานกันตามกฎคณิตศาสตร์ ประสบการณ์ของเราไม่ผิดพลาด แต่การตีความประสบการณ์อาจจะผิดพลาดหากไม่ประสานกับกฎอื่น ๆ ทั้งหมดของเอกภพ กาลิเลโอหาข้อมูลโดยการทดลอง มิใช่เพื่อถอดส่วนที่เหมือนกันออกจากสิ่งเฉพาะหน่วยและได้กฎโดยอัตโนมัติ
กาลิเลโอมิใช่ศิษย์ของแอเริสทาเทิล แต่เป็นศิษย์ของเพลโทว์ที่เชื่อว่ากฎเกณฑ์มีอยู่แล้วตายตัว แต่ก็ปรับปรุงคำสอนของเพลโทว์ให้เหมาะกับสมัยที่เริ่มรู้จักสังเกตและทดลอง อย่างไรก็ตามกาลิเลโอไม่เชื่อว่าการสังเกตทดลองเป็นเครื่องมือกำหนดกฎ แต่เป็นเครื่องมือให้เดากฎและทดลองกฎ ประสบการณ์มีบทบาทช่วยให้เดากฎซึ่งอาจจะเดาจากกฎอื่นก็ได้ ทางที่ดีเราควรใช้ทุกวิธีเพื่อช่วยให้เข้าถึงกฎของธรรมชาติให้ได้ เรามีความมั่นใจว่าเราสามารถเข้าถึงกฎของธรรมชาติได้ เพราะพระเจ้าทรงสร้างเอกภพให้มีกฎประสานกันแน่นแฟ้นเรียบร้อย และก็ทรงสร้างมนุษย์ให้มีสติปัญญาที่จะรู้กฎของเอกภพได้ การค้นคว้าให้รู้กฎของเอกภพจึงเป็นการถวายเกียรติแด่พระเจ้าอยู่ในตัว
ญาณปรัชญา บทบาทที่สำคัญของกาลิเลโอ ก็คือ ใช้เครื่องมือช่วยการคำนวณ มักจะเข้าใจกันผิด ๆ ว่า กาลิเลโอเอาประสบการณ์มาลบล้างความเชื่อ ความจริงกาลิเลโอส่องกล้องมิใช่เพื่อหาประสบการณ์มาลบล้างความเชื่อ เพราะจะส่องกล้องอย่างไรก็ยังเห็นดวงอาทิตย์โคจรรอบโลกอยู่วันยังค่ำ แต่ทว่ากาลิเลโอส่องกล้องเพื่อหาข้อมูลป้อนการคำนวณให้กว้างขวางยิ่งขึ้น การทิ้งวัตถุลงจากหอเอนเมืองปีซาก็เช่นกัน มิใช่เพื่อหาประสบการณ์มาสร้างทฤษฎีตามวิธีการอุปนัย
หากแต่กาลิเลโอต้องการลบล้างสมมุติฐานเก่าของแอเริสทาเทิลที่ว่าวัตถุหนัก 2 เท่า จะตกลงมาด้วยเวลาเพียงครึ่งเท่า และก็บรรลุเป้าหมาย คือทดสอบได้ว่าสมมุติฐานของแอเริสทาเทิลไม่จริง แต่การทดลองของกาลิเลโอก็มิได้นำไปสู่หลักเกณฑ์ใหม่ว่าจะต้องตกลงพร้อมกัน เพราะถ้าหากใช้กระดาษกับก้อนเหล็กทิ้งลงมาพร้อมกัน ก็คงตกลงถึงเดินไม่พร้อมกันเป็นแน่ เพราะกาลิเลโอไม่อาจจะหาสุญญากาศมาใช้ทดลองได้นั่นเอง ที่ชี้แจงมานี้ก็เพื่อให้เห็นว่ากาลิเลโอยังมิได้เห็นความสำคัญของวิธีอุปนัย หากแต่คิดว่าวิธีนิรนัยเท่านั้นเป็นวิธีการวิทยาศาสตร์ อันจะนำไปสู่ความเข้าใจกฎของเอกภพอย่างสอดคล้องกลมกลืนกันทั้งหมด
อย่างไรก็ตามต้องนับว่าการแสวงหาวิธีการวิทยาศาสตร์สามารถก้าวหน้ามาจนปลดเปลื้องตัวเองเป็นอิสระจากไสยศาสตร์ได้แล้ว และตั้งแต่ประมาณ ค.ศ.1600 เป็นต้นมา เราถือได้ว่าวิทยาศาสตร์แยกตัวเป็นวิชาอิสระอย่างเต็มตัว หากแต่วิธีการวิทยาศาสตร์ยังไม่แนบเนียนพอ ยังต้องแสวงหากันต่อไป ก้าวต่อไปก็คือจะต้องพบวิธีอุปนัยให้ได้ ซึ่งนักประวัติปรัชญายกให้แฟรงซิส เบเคิน (1561-1626) ได้เกียรติในเรื่องนี้ เพราะท่านเป็นคนแรกที่ค้นคว้าเรื่องนี้โดยเฉพาะ และแถลงออกมาอย่างชัดเจน ความจริงก่อนหน้านี้ก็มีผู้พบและใช้มาบ้างแล้วแต่ไม่สู้จะชัดเจนนัก