false classification แบ่งประเภทไม่ถูกต้อง
ผู้แต่ง : รวิช ตาแก้ว
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
การอ้างเหตุผล บางครั้งมีพื้นฐานอยู่ที่การแบ่งประเภท ถ้าการแบ่งประเภทไม่ถูกต้องก็ต้องนับว่าเนื้อหาที่จะนำมาใช้อ้างไม่ถูกต้อง ทำให้ข้อสรุปผิดพลาดไป จึงถือว่าเป็นการอ้างเหตุผลผิดในเนื้อหา
การแบ่งประเภทที่ถูกต้องจะต้องรักษากฎ 4 ข้อให้ครบถ้วน คือ
1. ต้องกินความถึงทุกหน่วย
2. ต้องอยู่ในขอบเขตของตน
3. แบ่งตรงเป้าหมาย
4. ไม่เหลื่อมล้ำกัน
ถ้าผิดกฎข้อใดข้อหนึ่งเพียงข้อเดียว ก็ถือว่าการแบ่งปันประเภทนั้นไม่ถูกต้องดังตัวอย่าง
“แบ่งนักศึกษาออกเป็น 2 ประเภท คือ รุ่นอาวุโส (seniors) อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป และรุ่นน้อง (juniors) อายุตั้งแต่ 20 ปีลงมา” ผิดกฎข้อ 4 เพราะประเภทเหลื่อมล้ำกัน คือ คนอายุ 20 ปี พอดีต้องสังกัดอยู่ใน 2 ประเภท และยังผิดกฎข้อ 3 เพราะไม่ตรงกับเป้าหมายของมหาวิทยาลัยซึ่งต้องการแบ่งประเภทนักศึกษาตามระดับชั้นเรียน หรือตามกำหนดเวลาเข้าเป็นนักศึกษาก่อนหลังกัน
“เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประกอบด้วย อินโดจีน พม่า ไทย ลาว เขมร มาเลเซีย อินเดีย” ผิดกฎข้อ 1 เพราะขาดอินโดนีเซีย ฟิลิปินส์ สิงคโปร์ ผิดกฎข้อ 2 เพราะมีอินเดียเกินเข้ามา และผิดกฎข้อ 4 เพราะอินโดจีน ลาว เขมร เหลื่อมล้ำกัน