false analogy เปรียบเทียบผิดแง่
ผู้แต่ง : รวิช ตาแก้ว
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
การเปรียบเทียบเป็นเรื่องของความไพเราะเพราะพริ้งในภาษา ภาษาใดยิ่งมีวรรณคดีระดับสูงก็ยิ่งมีข้อความเปรียบเทียบไว้ใช้กันเป็นประจำอยู่มาก เมื่อเปรียบเทียบก็มักจะใช้ข้อความเปรียบเทียบนั้นอนุมานต่อไปถึงข้อสรุป การกระทำเช่นนี้บางครั้งก็สมเหตุสมผล บางครั้งก็ไม่สมเหตุสมผล จึงต้องรู้หลักเกณฑ์ของการเปรียบเทียบไว้
การเปรียบเทียบที่ใช้เพื่อความสละสลวยของภาษาตามปกติ ผู้กำหนดข้อเปรียบเทียบไว้ตั้งใจจะเปรียบเทียบกันเพียงแง่เดียว ถ้าใช้คำเปรียบเทียบตรงกับแง่ที่ตั้งไว้อย่างสมเหตุสมผล แต่ถ้าใช้แง่อื่นมาเปรียบเทียบนอกเหนือไปจากแง่ที่ตั้งไว้ก็ต้องนับว่าใช้ไม่ได้ และเอาไปอ้างเหตุผลก็จะไม่สมเหตุสมผล เช่น
“ประเทศเป็นบ้าน ทหารเป็นรั้ว” เพราะฉะนั้นทหารต้องไปอยู่ชายแดนให้หมดจะเห็นได้ว่าทหารเปรียบได้กับรั้วในแง่หน้าที่ป้องกันประเทศชาติจาการบุกรุกจากคนต่างชาติ แต่จะอนุมานในแง่ที่ตั้งไม่ได้ เพราะวิธีป้องกันอาณาเขตของประเทศไม่เหมือนกับวิธีป้องกันเขตบ้าน ที่ตั้งของทหารจึงต้องเป็นไปตามยุทธศาสตร์
“มีปัญญาเหมือนมีทรัพย์อยู่นับแสน เอาไปฝากธนาคารกินดอกเบี้ยก็เหลือกิน” เงินแสนในขณะนี้มีค่าไม่มากนัก แต่คำเปรียบเทียบนี้เกิดขึ้นในสมัยที่เงินเรือนแสนมีค่านับเป็นสิบ ๆล้าน ถ้านำเอาไปฝากธนาคารก็จะได้ดอกเบี้ยเหลือกินเหลือกินเหลือใช้ แต่ไม่มีธนาคารไหนยอมรับฝากปัญญาและให้ดอกเบี้ย ทั้งนี้เพราะปัญญาเปรียบกับเงินนับสิบ ๆ ล้านได้ในแง่คุณค่าเท่านั้น จะเปรียบในแง่เกิดผลไม่ได้ เพราะต่างก็มีวิธีหาเงินต่างกัน
“ความรู้เหมือนดาบสองคม เพราะฉะนั้นราคาไม่กี่บาท” มาตอนนี้ผู้เปรียบเทียบตั้งใจจะเปรียบเทียบในแง่การใช้ คือ ถ้าใช้ดีก็เกิดผลดี ถ้าใช้ผิดก็จะเกิดผลร้าย แต่ผู้อ้างอ้างในแง่คุณค่าหรือราคาจึงไม่สมเหตุสมผล