ethical philosophy ปรัชญาจริยะ
ผู้แต่ง : รวิช ตาแก้ว
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
ปรัชญาจริยะเป็น ปรัชญาประยุกต์สาขาหนึ่ง ที่นำเอาปรัชญาบริสุทธิ์ไปตีความผลสรุปของความรู้ใด ๆ เกี่ยวกับความประพฤติ มีหน้าที่ตอบคำถามว่า “เราพึงปฏิบัติตนอย่างไรจึงจะสอดคล้องกับความเป็นจริง” (How to act according to reality)
เมื่อพิจารณาดูประเด็นคำถามแล้วก็เห็นได้ชัดว่าต้องสมมุติว่ามีคำตอบทางอภิปรัชญา (ความเป็นจริงคืออะไร) และทางญาณปรัชญา (เรารู้ความเป็นจริงด้วยมาตรการใด) อยู่ก่อนแล้ว จึงจะค้นคว้าหาคำตอบทางปรัชญาจริยะต่อไปได้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นการเอาความคิดทางอภิปรัชญาและญาณปรัชญามาประเมินค่าความประพฤติของมนุษย์เรานั่นเอง คำตอบทางอภิปรัชญาและญาณปรัชญาเป็นมูลบทร่วมกัน ส่วนคำตอบทางปรัชญาจริยะเป็นผลอนุมานจากมูลบทดังกล่าว ในประเด็นที่เกี่ยวกับความประพฤติ
แต่ที่เคยถือกันมาและบางคนยังถืออยู่ว่าเป็นแขนงหนึ่งของปรัชญาบริสุทธิ์นั้น ก็เพราะถือว่ายังไม่มีเนื้อหาเฉพาะวิชาที่แยกออกไปเป็นวิชาค้นคว้าหาข้อเท็จจริงเหมือนวิชาอื่น ๆ ที่ค้นคว้ารวบรวมข้อเท็จจริงต่าง ๆ เกี่ยวกับความประพฤติของมนุษย์ เช่น
มนุษยวิทยาที่กล่าวถึงขนบธรรมเนียมประเพณีของมนุษย์
สังคมวิทยาที่กล่าวถึงค่านิยมเกี่ยวกับความประพฤติของมนุษย์ในสังคมต่าง ๆ และอิทธิพลของสังคมต่อความประพฤติ
ประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงวิวัฒนาการของค่านิยมของความประพฤติของมนุษย์ รวมทั้งการนำเอาค่านิยมมาตั้งแต่ยุคโบราณถึงปัจจุบัน
จิตวิทยาที่กล่าวถึงพลังกระตุ้นให้มนุษย์กำหนดค่านิยมของความประพฤติขึ้นรวมทั้งอิทธิพลของอารมณ์ต่อความประพฤติ ฯลฯ
ถ้าหากเนื้อหาที่กระจัดกระจายอยู่นี้รวมตัวกันเป็นวิชาเฉพาะขึ้นมา จะเรียกว่าจริยวิทยาหรืออะไรก็ได้ อย่างที่มหาวิทยาลัยเรยตะกุ (Reitaku University, Chiba, Japan) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยของพระชินโตได้ตั้งคณะศีลธรรมวิทยาขึ้นให้ชื่อว่า Faculty of Moralology ซึ่งก็คือคณะจริยวิทยานั่นเองหากมีการจัดเนื้อหาสอนกันถึงขั้นนี้ก็ต้องถือว่าแยกเป็นวิชาอิสระแล้ว