ethical choice การเลือกทางจริยะ
ผู้แต่ง : รวิช ตาแก้ว
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
คุณค่าทางจริยะ ได้แก่ ผลจากการประเมินความประพฤติว่าตรงกับมาตรการจริยะที่ตนเอง ถืออยู่มากน้อยเพียงใด การกระทำอย่างเดียวกันจึงมีคุณค่าทางจริยะต่างกันแล้วแต่บุคคลแล้วแต่กรณี บางคนก็ถือว่าคุณค่าทางจริยะของตนเป็นปรนัย บางคนก็ถือว่าเป็นอัตนัย หรือถือว่ามีทั้งแง่อัตนัยและปรนัยผสมผสานกัน
ส่วนเรื่องที่เป็นปรนัย ได้แก่ คุณค่าที่เพ่งเล็งถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความประพฤติใดที่รักษาหรือส่งเสริมศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ย่อมมีคุณค่าเป็นปรนัย เพราะน่าจะเป็นคุณค่าสำหรับมนุษย์ทุกคนในทุกยุคทุกสมัย
คุณค่าที่กำหนดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในรายละเอียดปลีกย่อยซึ่งมีทรรศนะได้ต่าง ๆ กันนั้น เป็นแง่ต่าง ๆ ของคุณค่าอัตนัย ซึ่งอาจจะเป็นอัตนัย สำหรับสังคม หรืออัตนัยเฉพาะตัวก็ได้ เช่น ในฐานะที่เป็นคนไทยในขณะนี้ เราเทิดทูนสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาธิปไตย ความประพฤติที่มุ่งรักษาหรือส่งเสริมสถาบันทั้ง 4 นี้ เราก็ถือว่ามีคุณค่าอัตนัยสำหรับสังคมไทยของเรา ชาติอื่นเขาอาจจะถือคุณค่าในสังคมของเขาผิดเพี้ยนไปจากเราก็ได้ เพราะเป็นเรื่องของเสรีภาพประจำชาติที่เราถือว่าไม่เหมาะสมกับชาติของเรา
เราก็จะไม่ถือว่ามีคุณค่าในสังคมของเราส่วนคุณค่าอัตนัยเฉพาะตัว ได้แก่ การขยายรายละเอียดของคุณค่าสำหรับสังคมออกไปอีก เช่น มีอุดมคติในการส่งเสริมการเข้าใจกันและกันและการร่วมมือระหว่างศาสนาและลัทธิต่าง ๆ ในประเทศไทย ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การสอนการเรียนที่มุ่งไปสู่เป้าหมายนี้ ย่อมถือว่ามีคุณค่าอัตนัยเฉพาะตัว และต้องก็เคารพคุณค่าอัตนัยเฉพาะตัวของคนอื่น ๆ ที่มุ่งส่งเสริมศาสนาใดศาสนาหนึ่งโดยเฉพาะ โดยที่ไม่ก้าวก่ายสิทธิของศาสนาอื่น ๆ ดังนี้เป็นต้น
รวมความว่าคุณค่าทางจริยะควรพิจารณาทั้งในด้านอัตนัยระดับต่าง ๆ ของแต่ละบุคคลจึงจะใช้ได้ผลดีในทางปฏิบัติ