ethic จริยธรรม
ผู้แต่ง : สุดารัตน์ น้อยแรม
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
จริยธรรมคือ
1. เกณฑ์ความประพฤติสำหรับคนคนหนึ่ง หรือ กลุ่มชนหนึ่ง หรือลัทธิหนึ่ง
2. คุณธรรม (virtue*) ชุดหนึ่งที่ทำให้คนคนหนึ่ง หรือกลุ่มชนหนึ่งเป็นคนดี หรือทำให้ลัทธิหนึ่งรับรองได้ว่ามีจริยปฏิบัติที่รับรองได้ว่าดี
โดยปรกติ 2 ความหมายจะไปคู่คี่กัน กล่าวถึงความหมายหนึ่งย่อมว่าอีกความหมายหนึ่ง เช่น เมื่อกล่าวถึงเกณฑ์ความถี่ของคานท์ (Kant*) ว่าได้แก่การกระทำที่ทำโดยสำนึกว่าเป็นหน้าที่ ย่อมว่าคุณธรรมทั้งหลายอยู่ในเกณฑ์นี้
นักปรัชญาโดยทั่วไปมักจะประยุกต์ปรัชญาบริสุทธิ์ของตนลงเป็นปรัชญาจริยะด้วย เพราะนักปรัชญาส่วนมากย่อมต้องการชี้แสดงให้เห็นว่า ลัทธิปรัชญาของตนมิใช่เป็นการชอบคิดปัญหาเพื่อฝึกสมองเท่านั้น แต่ทว่ามีความสำคัญสำหรับการปฏิบัติในชีวิตโดยตรง อันได้แก่การเสนอเหตุผลสำหรับตัดสินใจเลือกทางประพฤติตน ไม่มีเรื่องใดที่ปรัชญาจะสัมผัสกับชีวิตจริงได้อย่างใกล้ชิดเท่ากับปรัชญาจริยะอีกแล้ว จึงนับได้ว่าปัญหาทางจริยะเป็นปัญหาที่นักปรัชญาสนใจกันมากที่สุดในบรรดาปรัชญาประยุกต์ทั้งหลาย และส่วนมากกล่าวถึงราวกับเป็นจุดหมายประการสำคัญที่สุดของการศึกษาปรัชญาทีเดียว
ส่วนชาวบ้านที่ไม่ได้เรียนปรัชญาก็มีปรัชญาประจำใจเหมือนกัน คือ ปรัชญาชาวบ้าน และมักจะมีเกณฑ์สูงสุดสำหรับตัดสินใจเลือกการกระทำ ตามแบบแผนของแต่ละยุค แต่ละสมัย
ประมวลข้อธรรมที่ทำให้คน ๆ หนึ่งหรือคนประเภทหนึ่งเป็นคนดี พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 นิยามคำ “จริยธรรม” ว่า “ธรรมที่เป็นข้อพฤติปฏิบัติ, ศีลธรรม, กฎศีลธรรม” ซึ่งก็คงมิได้ตั้งใจให้หมายถึงข้อธรรมแต่ละข้อ ซึ่งควรจะเป็นความหมายของคำ “คุณธรรม” (virtue)
จริยธรรมกล่าวให้เต็มจึงได้แก่ ประมวลคุณธรรมอันพึงประพฤปฏิบัติ ที่พจนานุกรมดังกล่าวนิยามคุณธรรมว่า “สภาพ (สภาวะ, ภาวะ) คุณงามความดี” จึงนับว่าถูกต้อง ถ้าไม่รัดกุมควรเสริมอีกนิดว่า “ภาวะคุณงามความดีแต่ละอย่าง” ทั้งสองคำคือคุณธรรมจริยธรรมก็จะได้ความหมายตามหลักวิชาการสากล