ethic and harmony จริยธรรมกับความกลมกลืน
ผู้แต่ง : รวิช ตาแก้ว
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
“เดินตามกฎธรรมชาติ” กับ “การเดินตามกฎของธรรมชาติ” สองคำนี้มีความหมายไม่เหมือนกันในปรัชญาจริยะ
“จงเดินตามธรรมชาติ” (follow nature) เป็นคติพจน์ร่วมของสองกลุ่มในลัทธิเหตุผลนิยมหรือธรรมชาตินิยมทางจริยะ มีความหมายกว้าง คือ อาจจะเดินตามธรรมชาติของมนุษย์ที่มีกฎพิเศษกว่าส่วนอื่นๆ ของเอกภพ ซึ่งเรียกว่ากฎธรรมชาติ (natural law) ซึ่งกล่าวให้เจาะจงได้ว่า “จงเดินตามกฎธรรมชาติ” (follow the natural law) หมายเจาะจงถึงการเดินตามธรรมชาติของมนุษย์ตามทรรศนะของนักปรัชญาที่คิดว่า มนุษย์เป็นส่วนพิเศษของเอกภพที่มีมโนธรรมสำหรับเข้าใจเป้าหมายพิเศษของตนทำให้สามารถเลือกวิถีปฏิบัติได้ไม่ตายตัว ผู้เดินตามกฎธรรมชาติจึงนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มที่เดินตามธรรมชาติด้วย
แต่มีส่วนยกเว้นจากกฎของธรรมชาติ อย่างเช่น แอร์เริสทาทเทิล ซึ่งแนะนำให้คนเราเดินตามธรรมชาติในความหมายว่ากฎธรรมชาติ เพราะแอร์เริสทาทเทิล หมายถึงธรรมชาติของมนุษย์ที่ประเสริฐกว่าธรรมชาติของเอกภพ โดยมีปัญญาที่ไม่อยู่ในขอบข่ายของธรรมชาติสสาร
ส่วนรุสโซ หมายถึง ธรรมชาติของมนุษย์ที่เป็นส่วนหนึ่งของเอกภพ ซึ่งต้องเดินตามกฎธรรมชาติ (law of nature) เท่านั้น แอร์เริสทาทเทิลแนะนำให้ยึดมาตรการจริยะที่จะนำเราไปสู่ความสูงส่งแห่งความเป็นมนุษย์ทำให้เรามีสภาพเข้าใกล้มนุษย์ในอุดมการณ์ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ซึ่งตามมติของแอร์เริสทาทเทิลก็คือ มีความรู้สมบูรณ์ที่สุดในสภาพแวดล้อมของตน มนุษย์ในอุดมการณ์ดังกล่าวจะเป็นผู้ที่มีความสุขที่สุด ส่วนรุสโซ คิดถึงกฎจิตวิทยาว่าคนเรามีความโน้มเอียงตามกฎธรรมชาติ ถ้าความโน้มเอียงไม่อยู่ในขอบเขตของกฎธรรมชาติของมนุษย์ ก็ให้แก้ไขเสียให้อยู่ในขอบเขตแล้วตอบสนองตามขอบเขต การฝืนกฎของธรรมชาติเป็นบ่อเกิดของความทุกข์จึงควรหลีกเลี่ยง กฎจิตวิทยาของรุสโซจึงเป็นกฎจริยะด้วย การเดินตามธรรมชาติของรุสโซจึงหมายถึง เดินตามกฎของธรรมชาติ
ส่วนของแอร์เริสทาทเทิลหมายถึง เดินตามมาตรการจริยะ ซึ่งแอร์เริสทาทเทิลเชื่อว่ามาตรการจริยะของตนเดินตามกฎธรรมชาติ เราจึงไม่จัดแอร์เริสทาทเทิลอยู่ในกลุ่มเดินตามกฎของธรรมชาติที่มุ่งพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกายกับจิต แต่จัดอยู่ในกลุ่มพัฒนาปัญญาแม้จะอยู่ในลัทธิธรรมชาตินิยมทางจริยะหรือเหตุผลนิยมด้วยกันและวางมาตรการให้เดินตามธรรมชาติด้วยกันก็ตาม
สิทธิตามธรรมชาติ สิทธิตามธรรมชาติ (natural right) เป็นข้อสรุปจากความคิดเห็นเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ กล่าวคือ ใครคิดว่าธรรมชาติของมนุษย์เป็นอย่างไร ก็จะสรุปว่ามนุษย์มีสิทธิในการดำเนินการเพื่อบรรลุถึงความสมบูรณ์ของธรรมชาติของตน ถ้าผู้ใดขัดขวางหรือละเมิดหรือวางอุปสรรคขัดขวางเรามีสิทธิที่จะประท้วงและขอร้องให้ผู้มีความรับผิดชอบในสังคมแก้ไขให้เรา เช่น แอร์เริสทาทเทิลมีความเห็นว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะแสวงหาความรู้เท่าที่ตนอยากรู้และที่จะใช้ชีวิตอย่างสงบสุขเพื่อเคลิบเคลิ้มกับความรู้ของตน ส่วนรุสโซมีความเห็นว่ามนุษย์มีสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะเดินตามความต้องการตามกฎของธรรมชาติแห่งจิตวิทยาของมนุษย์ ซึ่งไม่มีทางพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิม
หน้าที่ตามธรรมชาติ สิทธิกับหน้าที่เป็นของคู่กันในเมื่อเรามีสิทธิตามธรรมชาติและต้องการให้ทุกคนเคารพคนอื่น ทุกคนก็มีสิทธิตามธรรมชาติเหมือนเรา เราจึงมีหน้าที่ที่จะต้องเคารพสิทธิตามธรรมชาติของผู้อื่นด้วย นั้นคือ แต่ละคนมีหน้าที่เคารพและค้ำประกันสิทธิของผู้อื่นทุกคนเพื่อให้ทุกคนมีสิทธิตามธรรมชาติอยู่ได้ นอกจากนั้น เรายังมีหน้าที่จะต้องใช้สิทธิตามธรรมชาติของเราด้วยเพื่อศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของเราไม่ควรนอนหลับทับสิทธิ เพราะนั่นหมายถึงการไม่รู้ค่าแห่งความเป็นมนุษย์ของตน
น้อยคนจะคิดอย่างรุสโซ (Jean-Jacques Rousseau, 1712-78) คิดว่ากฎจริยะ อยู่ในระดับเดียวกับกฎของโลก นั้นคือมีแต่กฎของธรรมชาติที่ครอบคลุมทั้งสสารและจิตใจไม่มีกฎธรรมชาติที่ใช้สำหรับจิตใจมนุษย์โดยเฉพาะ และเมื่อเชื่ออย่างนี้ก็ไม่มีอะไรต้องพูดมากเรื่องจริยธรรมนอกจากจะกล่าวว่า “จงทำตัวให้กลมกลืนกับธรรมชาติรอบตัวโดยลดฐานะลงให้อยู่ในระดับอื่นในโลก” รุสโซได้กล่าวว่า “สังคมเป็นสิ่งเลว เพราะทำให้มนุษย์ผิดธรรมชาติ” ดังนั้น นักปราชญ์ที่จะยกย่องเป็นตัวอย่างของกฎธรรมชาติต่อไปนี้ จึงอยู่ในประเภทที่เชื่อว่ามีกฎธรรมชาติที่อยู่เหนือกฎของธรรมชาติ นั่นคือนิยามกฎธรรมชาติตามคติของแอร์เริสทาทเทิล