ethic, analysis of การวิเคราะห์จริยธรรม
ผู้แต่ง : รวิช ตาแก้ว
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
จริยศาสตร์แบบสากลพยายามจะให้เป็นกลางที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงเป็นจริยศาสตร์ที่ทุกคนไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดหรือไม่ก็อาจจะศึกษาร่วมกันได้ และไม่ว่าจะเป็นพลเมืองของชาติใด สังกัดอยู่ฝ่ายอิทธิพลทางวัฒนธรรมใดก็อาจจะเรียนร่วมกันได้และร่วมมือกันโดยไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกันหรือตรงกัน
วิธีการที่ใช้จะเรียกได้ว่า วิจารณญาณ (critical mind) ซึ่งเป็นการประนีประนอมแบบเข้าใจดีต่อกัน (mutual understanding) ซึ่งไม่ใช่การแบ่งรับแบ่งสู้ (compromise) ไม่ใช่การบวกกันหารสอง (arithmetical means) ไม่ใช่การผ่อนสั้นผ่อนยาว หรือแบ่งกันกินคนละครึ่ง
วิธีการเหล่านี้เหมาะสำหรับแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น การแก้ไขปัญหาระยะยาวและถาวรต้องใช้การเข้าใจกันและกันนั่นคือศึกษาให้เข้าใจความคิดและความปรารถนาของกันและกันเพื่อหาจุดสนใจร่วมกันอันจะเป็นพื้นฐานสำหรับความร่วมมือกันอย่างมีประสิทธิภาพที่จะทำเช่นนี้ได้ต้องใช้วิจารณญาณอันประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ แยกประเด็น (วิเคราะห์) ประเมินค่า (วิจักษ์) และเลือกเก็บส่วนที่เป็นคุณค่าเพื่อนำไปปฏิบัติ (วิธาน)