dim of conscience แววแห่งมโนธรรม
ผู้แต่ง : สุดารัตน์ น้อยแรม
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
มนุษย์เราเริ่มมีแววแห่งความสำนึกทางจริยะตั้งแต่เมื่อใด เป็นเรื่องสุดวิสัยที่จะค้นคว้าหาหลักฐานมายืนยันมให้แน่นอนลงไปได้ในขณะนี้ จากการสังเกตดูความเป็นอยู่ของสัตว์ชั้นสูง เราพบว่ามันดูเหมือนจะรู้จักปฏิบัติจริยธรรมบ้างแล้ว เช่น เราสังเกตเห็นว่า มดและผึ้งมีความเสียสละและความสามัคคี อูฐมีความอดทนรอบคอบ นกรู้จักคิดถึงอนาคตลิงรู้จักอยู่กันเป็นสังคม ช้างรู้จักเชื่อฟังผู้นำ ฯลฯ
แต่ทว่าการปฏิบัติเหล่านี้เป็นไปตามสัญชาตญาณ ยังไม่มีอะไรส่อให้เห็นเลยว่ากระทำไปโดยมีการตรึกตรองล่วงหน้าและตัดสินใจฝืนมโนธรรมได้ เราจึงยังไม่ถือว่าสัตว์เหล่านี้มีคุณธรรมและจริยธรรมอย่างแท้จริงเพราะได้กล่าวไว้แล้วว่า คุณธรรมจริยธรรมเป็นมาตรการของความประพฤติ และความประพฤติจะต้องสมมุติว่ามีมโนธรรม อย่างไรก็ตาม จากการสังเกตดังกล่าวเราสรุปได้ว่าการปฏิบัติที่สอดคล้องกับคุณธรรมจริยธรรมนั้น มีมาก่อนความสำนึกเสียอีก
ดังนั้น ถ้ามนุษย์เราวิวัฒน์มาจากสัตว์จริง มนุษย์เราก็คงได้ปฏิบัติสอดคล้องกับหลักคุณธรรมจริยธรรมมาก่อนโดยสัญชาตญาณ แล้วจึงค่อย ๆ สำนึกขึ้นมาทีละน้อยจนกว่าการปฏิบัติเช่นนั้นเช่นนี้เป็นไปตามหลักคุณธรรมจริยธรรม ถ้าปฏิบัติตรงกันข้ามก็เป็นการละเมิดคุณธรรมจริยธรรม จึงอาจกล่าวได้อย่างกว้าง ๆ ว่า แววแห่งมโนธรรมเริ่มมีในสัตว์ชั้นสูงแล้ว