deconstructionism ลัทธิรื้อทำลาย
ผู้แต่ง : ศุภชัย ศรีศิริรุ่ง
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
“หลังนวยุคนิยมคือกระแสต่อต้านนวยุคภาพ”
นิยามของหลังนวยุคนิยมดังกล่าว เป็นนิยามที่สั้นแต่อาจจะเข้าใจได้ไม่ง่ายนัก นั่นคือ จะเข้าใจหลังนวยุคนิยมให้ถ่องแท้ก็ต้องรู้จักและเข้าใจนวยุคภาพให้ดีเสียก่อน จะได้รู้ว่าหลังนวยุคนิยมนั้นเป็นกระแสต่อต้านอะไร อย่างไร และ ทำไมต้องต่อต้าน เมื่อศึกษาแล้วจะพบว่า หลังนวยุคนิยมที่เป็นกระแสต่อต้านนวยุคภาพดังกล่าวนั้นเป็นเพียงกระแสที่เกิดขึ้นในระยะแรก ๆ ที่เรียกว่า ลัทธิหลังนวยุคนิยมแบบสุดขั้ว (Extreme Postmodernism) ที่มุ่งต่อต้าน ขัดแย้ง อย่างตรงกันข้ามกับแนวคิดและวิธีคิดของนวยุคภาพในทุกประเด็นโดยมุ่งที่จะรื้อถอน (Deconstruction) แนวคิดทุกอย่างที่เป็นนวยุค ออกทิ้งไปเสียทั้งหมด แม้บางอย่างอาจจะมีคุณค่าอยู่บ้างก็ไม่ใส่ใจ ขอให้เป็นการต่อต้านนวยุคภาพไว้ก่อนเป็นใช้ได้
กระแสแนวคิดนี้มีข้อดีในแง่ความชงัดของการปลดแอกมนุษย์จากการครอบงำทางความคิด ความรู้และความเชื่อกระแสหลักของนวยุคภาพที่ว่า เหตุผลทางวิทยาศาสตร์คือวิธีเข้าถึงความจริงเพียงวิธีเดียวเท่านั้น
ความรู้ทางวิทยาศาสตร์คือพลังที่สามารถควบคุมและจัดการธรรมชาติ สามารถนำธรรมชาติมาใช้สนองประโยชน์แก่มนุษย์ได้อย่างไม่จำกัด และด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์นี้จะทำให้มนุษย์สามารถอยู่ในโลกนี้อย่างสุขสบายมากขึ้นตามลำดับจนถึงขั้นสร้างสวรรค์ในโลกนี้ได้
เมื่อปลดแอกแนวคิดต่าง ๆ เหล่านี้ลงได้ ปัญหาที่เกิดตามมาในหลังนวยุคภาพก็คือความวุ่นวายสับสนของการไม่มีแอกเลย นั่นคือจะทำอะไรก็ได้ที่แปลก ๆ แหวกแนว รวมทั้งการกระทำที่บ้า ๆ บอ ๆ เอาแต่ใจตนเอง ทั้งหลายด้วย โดยอ้างว่าคือปรัชญาหลังนวยุคนิยมทั้งสิ้น
ลัทธิหลังนวยุคนิยมแบบสายกลาง (Moderate Postmodernism) จึงพัฒนาขึ้นเพื่อดึงแนวคิดหลังนวยุคนิยมที่สุดขั้วและสุดโต่งทั้งหลายให้กลับมาสู่ความเป็นจริงของชีวิตมนุษย์ที่มีอยู่จริง และสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้จริง ด้วยวิธีวิจารณญาณ วิเคราะห์เนื้อหาแนวความคิดต่าง ๆ อย่างเปิดกว้างครอบคลุมความคิดของมนุษย์ทั้งโลก ทุกวัฒนธรรม ทุกลัทธิความเชื่อถือ และทุกกระบวนทรรศน์ ในลักษณะ “สำรวจใหม่หมด ไม่งดละอะไรเลย” (Reread all, Reject non) แล้ววิจักษ์ประเมินค่า เลือกเอาส่วนที่เห็นว่าดีมีคุณค่ามาพัฒนาหาความเข้าใจใหม่ ๆ มาเสริมองค์ความรู้ของตน โดยไม่โจมตีลบล้างสิ่งที่ตนเองยังไม่เลือกเอามาใช้ เพราะสิ่งเหล่านั้นยังอาจมีคุณค่าต่อผู้อื่นหรือแม้แต่ต่อตนเองก็ได้ในบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคต เป็นการรื้อเพื่อสร้างใหม่ (Reconstruction) ทั้งนี้ก็เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายอันได้แก่ การพัฒนาคุณภาพชีวิต และการอยู่ร่วมกันอย่างเอื้ออาทรระหว่างมวลมนุษย์บนพื้นฐานแห่งการเคารพศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของกันและกัน