Da Vinci, Leonardo and network เลโอนาร์โดดาวินชีกับเครือข่าย
ผู้แต่ง : เอนก สุวรรณบัณฑิต
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
ลีโอนาร์โดว์ดาวินชี (Leonardo da Vinci 1452-1519) เป็นคนแรกที่เอาปรัชญากับงานฝีมือ หรือทฤษฎีกับปฏิบัติผสมผสานกันได้อย่างแนบเนียน เป็นแบบอย่างของนักวิชาการต่อมาว่าต้องสนใจทำทั้ง 2 ด้านให้สอดคล้องกัน จึงจะเป็นความรู้ที่น่าเชื่อถือ ชาวกรีกแยกความรู้ของเสรีชน (liberal arts) ออกจากความรู้ของทาสซึ่งถือว่าเป็นความชำนาญทางช่างฝีมือต่าง ๆ การแกะสลัก การก่อสร้าง การผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ล้วนแต่เป็นความรู้ของทาส (labor) ทั้งสิ้น
ยุคกลางไม่มีทาส นอกจากทาสที่ดิน (serf) งานช่างฝีมือต่าง ๆ (artisanship) ซึ่งถือว่าไม่ใช่วิชาการ ไม่มีการสอนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย แต่สอนกันเองตามโรงงาน และมีสมาคมอาชีพ (guild) คอยควบคุมคุณภาพ
ลีโอนาร์โดว์สนใจความรู้ทั้ง 2 ด้าน และเอามาผสมผสานกัน ทำให้ทฤษฎีเป็นตัวนำร่องการปฏิบัติและการปฏิบัติคอยเช็คทฤษฎี ช่วยให้การปฏิบัติก้าวหน้าในคุณภาพและทฤษฎี มีการปรับปรุงแก้ไขด้วยการปฏิบัติและการทดลองที่จงใจทำเพื่อเช็คทฤษฎีเก่าหรือแสวงหาทฤษฎีใหม่โดยเฉพาะ มีผู้เห็นด้วยกับลีโอนาร์โดว์มากขึ้นตามลำดับ พวกนี้จะเป็นต้นแบบของนักวิทยาศาสตร์ และผู้คิดด้วยวิธีการวิทยาศาสตร์ในเวลาต่อมา เพื่อช่วยกันต่อต้านนักวิชาการแบบเก่า จึงมีการรวมตัวกันเป็นบัณฑิตยสภา(academy) ซึ่งก็มักจะได้รับการสนับสนุนจากกษัตริย์หรือพ่อค้าหัวใหม่ที่ต้องการเสวยสุขจากความรู้ใหม่ ๆ เช่น Florentine Academy of Design, Royal Academy of England, l’AcademieFrancaise, Royal Academy of Germany, Royal Academy of Sweden, etc.
กษัตริย์สเปนและโปรตุเกสส่งเสริมการเดินเรือตามหลักวิชาการ การฟื้นฟูศิลปวิทยาการจริง ๆ คือการฟื้นฟูทั้งด้านซึ่งในสมัยกรีกแยกกัน และซึ่งนักฟื้นฟูและนักนวนิยมเอามารวมกัน