Cusa on Peace of Faith คิวเสอกับสันติภาพแห่งศรัทธา
ผู้แต่ง : กันต์สินี สมิตพันธ์
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
นีเคอเลิสแนะนำให้สร้างสันติระหว่างศาสนา โดยเขียนหนังสือขึ้นโดยเฉพาะว่าด้วยแห่งสันติภาพแห่งศาสนา (On the Peace Faith) เพื่อชี้แจงว่า ทุกศาสนาต่างก็เป็นการเดาถึงความจริงเดียวกัน ซึ่งไม่มีศาสนาใดจะอ้างได้ว่ามีอยู่อย่างสมบูรณ์หากจะกล่าวตามศัพท์ของเราในสมัยนี้ก็ได้ความว่า ทุกศาสนาสอนสมมุติสัจซึ่งชี้บ่งถึงปรมัตถสัจเดียวกัน ศาสนาต่าง ๆ จึงพึงร่วมมือกันแสวงหาความเข้าใจและการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงปรมัตถสัจมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ หากทุกฝ่ายยอมรับความจริงนี้ การพิพาทในปัญหาเรื่องคำสอนทางศาสนาก็จะหมดไป ขันติก็จะเกิดขึ้นแทน อย่างไรก็ตาม หลังจากความพยายามรวมนิกายของคริสต์ศาสนาสำเร็จได้เพียงช่วงระยะเวลาอันสั้น ก็แตกแยกกันร้ายแรงกว่าเดิมอีก นีเคอเลิสจึงหันมาสนับสนุนประกาศิตชี้ขาดของสำนักสันตะปาปา เพราะคิดว่าเป็นวิถีทางเดียวที่จะบรรลุเป้าหมาย
ปรัชญาของนีเคอเลิสแห่งคิวเสอเหยียบอยู่ในแดนแห่งปรัชญาอัสสมาจารย์แต่ทว่ายื่นศีรษะเข้ามาในสมัยฟื้นฟู จึงนับได้ว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างสมัยอัสสมาจารย์กับสมัยฟื้นฟู นั่นคือปัญหาเป็นปัญหาของปรัชญาอัสสมาจารย์ แต่คำตอบล้ำแดนมาเป็นคำตอบสมัยฟื้นฟู นีเคลเลิสได้รับอิทธิพลจากดายเออนีเชิลเทียม ,จอนห์ สคาเทิส อรีเจอเนอ และอาจารย์เอกเคิร์ท น่าเสียดายที่นีเคอเลิสไม่มีลูกศิษย์ต่องานทันที
นักปราชญ์เยรมันสมัยฟื้นฟูตื่นงานของชาวอิตาลีกันเป็นพื้น จึงพากันหันหลังให้กับการศึกษาเรื่องเอกภพและพระเป็นเจ้า แทนที่จะคิดเหมือนนีเคอเลิสว่า การศึกษาเอกภพ มนุษย์และพระเป็นเจ้าต้องไปด้วยกัน เพราะช่วยให้เข้าใจกันและกัน ต้องรอมาถึงสมัยใหม่จึงมีผู้ได้รับประโยชน์จากท่านเช่น ลายบ์นิซสอนว่า โมนาดแต่ละโมนาดช่วยให้เข้าใจเอกภพ เชลลิงเองสารภาพว่าได้ความคิดเป็นอันมากจากการอ่านนีเคอเลิสแห่งคิวเสอ เฮเกสรับเอาคำสอนเรื่องการรวมสิ่งขัดแย้งในพระเป็นเจ้ามาพัฒนาเป็นกฏปฏิพัฒนาการ (Law of Dialectic )
ต่อมา ชาวอัตถิภาวนิยมก็ชอบลัทธิฌานนิยมของท่านมิใช่น้อยนอกจากนั้นไม่ควรลืมบรูโน (Bruno) ชาวอิตาลีซึ่งยอมรับท่านเป็นอาจารย์ทางความคิดเห็นรายแรก