ลัทธิปฏิฐานนิยม
positivism
ผู้แต่ง : พระปรียะพงษ์ คุณปัญญา
โอกุสต์ กงต์ (Auguste Comte, 1798 – 1857 ) ได้ชื่อว่าเป็นผู้ก่อตั้งลัทธิปฏิฐานนิยม โดยปรัชญาลัทธินี้มีความเชื่อว่า ความจริงแท้ จะต้องมีการพิสูจน์ได้โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น ทั้งนี้ก็เพราะว่าวิทยาศาสตร์เท่านั้นจะสามารถยืนยันและให้คำตอบได้อย่างมีเหตุมีผล
ลัทธิปฏิฐานนิยมต่างกับลัทธิประสบการณ์นิยมในเรื่องของการแสวงหาความรู้ ตรงที่ว่า ลัทธิประสบการณ์นิยมมุ่งเน้นเฉพาะแต่ความสำคัญที่ได้จากประการณ์ตรงนำมาเป็นความรู้ในการตัดสินแสวงหาความรู้แบบใหม่ ส่วนลัทธิปฎิฐานนิยมนั้นมุ่งเน้นในการแสวงหาความรู้จากประสบการณ์ตรงเหมือนกันแต่ต้องมีการทดลองทางวิทยาศาสตร์เสียก่อน
กงต์ได้ศึกษาและค้นคว้าประวัติของวิทยาศาสตร์ โดยผ่านการสังเกตได้จากกระบวนการคิดสติปัญญาที่มีวัฒนาการมาโดยลำดับแยกออก ได้เป็น 3 ระดับ (The Three stages of Human Mind Development) คือ
1.ระดับศาสนา (Theological Stage ) ในช่วงนี้มนุษย์พยายามที่จะสร้างองค์สัมพันธ์ให้กับธรรมชาติ ให้เหมือนกับว่า เป็นสิ่งมีชีวิตเช่นเดียวกันกับมนุษย์ เพื่อจะให้ความเคารพและยำเกรงต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
2. ระดับอภิปรัชญา (Metaphysical Stage) ในช่วงนี้มนุษย์ได้มีวิวัฒนาการแนวคิดเกี่ยวกับธรรมชาติจากเดิมเกี่ยวกับเทพเจ้า หันมาให้ความสำคัญเกี่ยวกับธรรมชาติในแง่ ความรู้ สาเหตุ สสาร และสสารบริสุทธิ์ ว่ามีอยู่จริงหรือไม่
3.ระดับปฏิฐาน (Positive Stage) เมื่อได้มีการศึกษาค้นคว้าด้วยวิธีการต่างๆ ในที่สุดก็ได้พบว่าบ่อเกิดของความรู้ที่แท้จริงนั้นเกิดขึ้นมาจากมูลบทของสิ่งต่างๆ ที่ได้ผ่านกระบวนการทดสอบโดยผ่านกระบวนการระบบประสาทสัมผัส
ดังนั้น กงต์จึงได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสังคม โดยเน้นจุดเริ่มต้นที่จะต้องมีการพัฒนากระบวนการคิดอย่างมีระบบที่ส่งเสริมให้เกิดสติปัญญาให้มีความเข้าใจในปัญหาหรือสิ่งต่างๆ อย่างถ่องแท้ โดยมีมูลบทในการที่จะทำให้เราเข้าถึงความจริงได้ คือ
1. สิ่งที่เราสังเกตได้เท่านั้นที่เป็นจริง
2. ธรรมชาติมีกฏเกณฑ์แน่นอนตายตัวสม่ำเสมอ ตลอดถึงการแสวงหาวิธีการที่จะเข้าถึงความรู้นั้น ด้วยวิธีการต่างๆ